ธนาคารแห่งประเทศไทย ออก 4 มาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท เปิดรับขอความช่วยเหลือได้ถึง 31 ธ.ค. 64
วันที่ 2 กันยายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับผู้ให้บริการทางการเงิน ผ่านสมาคมและชมรมต่าง ๆ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19
มาตรการดังกล่าวจะทำให้รายได้และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง โดยได้ยกระดับจากมาตรการเดิม ให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น
รวมทั้งช่วยลดภาระหนี้ในระยะยาว เพิ่มทางเลือก มีความยืดหยุ่น และมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนที่ไม่เป็น NPL (ค้างชำระหนี้มากกว่า 3 เดือนติดต่อกัน) ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563 ได้อย่างเหมาะสมตามความเป็นจริง โดยครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท ดังนี้
1. บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (Revolving & Installment Loan) : เน้นการบรรเทาภาระหนี้กรณีเปลี่ยนเป็นหนี้ระยะยาวเกินกว่า 48 งวด โดยให้ทบทวนอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราเพดาน (บัตรเครดิต ร้อยละ 12 และสินเชื่อส่วนบุคคลฯ ร้อยละ 22 ต่อปี) ตั้งแต่งวดแรก
2. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ : มีทางเลือกการพักชำระค่างวด ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 22 ต่อปี และสำหรับลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงให้มีทางเลือกการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือให้ผู้ให้บริการทางการเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมตามเงื่อนไขที่กำหนด
3. เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ : มีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการควบคุมดอกเบี้ยด้วยอัตรา Effective Interest Rate (EIR) และการคิดดอกเบี้ยสำหรับช่วงที่พักชำระค่างวด และสำหรับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงให้มีทางเลือกการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือให้ผู้ให้บริการทางการเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมตามเงื่อนไขที่กำหนด
4. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน : เพิ่มทางเลือกการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (step up) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบสามารถสมัครรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม – 31 ธันวาคม 2564 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน โดยผู้ให้บริการทางการเงินต้องจัดให้มีการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสถานะของลูกหนี้ตามมาตรการที่แบงก์ชาติกำหนด นอกจากนี้ แบงก์ชาติสนับสนุนให้ผู้ให้บริการทางการเงินมีนโยบายให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ ธปท. ได้คำนึงถึงการดูแลลูกหนี้ที่เดือดร้อนให้ได้รับการช่วยเหลือและได้รับข้อแนะนำในการแก้ไขหนี้อย่างเหมาะสม โดยมีโครงการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” เป็นช่องทางเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และเช่าซื้อ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนและมีจำนวนมากให้ได้รับความช่วยเหลือที่สะดวกรวดเร็วขึ้น
2. โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เป็นแหล่งให้ข้อมูลและข้อแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้รายย่อยและธุรกิจ ซึ่งลูกหนี้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและนำไปแก้ไขปัญหา หรือบอกต่อข้อแนะนำแก่ผู้ใกล้ชิดได้ โดยศึกษาข้อมูลได้ทาง www.bot.or.th/app/doctordebt/
ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบสามารถศึกษาและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือได้ที่ผู้ให้บริการทางการเงินของท่าน ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น website, mobile application, social media, call center และสาขา
สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพ ขอให้ชำระหนี้ต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เป็นภาระหนี้ในอนาคต เนื่องจากการพักชำระเงินต้น และ/หรือดอกเบี้ย ส่วนของดอกเบี้ยยังคงเดินต่อเนื่อง ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นในระยะยาว
อ่านข่าวต้นฉบับ: ธปท.ช่วยลูกหนี้รายย่อยครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท กลุ่มไหนบ้าง !