เคทีซี เผยแผนกลยุทธ์ครึ่งปีหลังของกลุ่มธุรกิจสินเชื่อตั้งเป้าเติบโตระมัดระวัง เน้นรักษาพอร์ตสินเชื่อ 2.94 หมื่นล้านบาท กดหนี้เสียไม่เกิน 3% ยอมรับเข้มอนุมัติสินเชื่อทำยอดปล่อยใหม่หดตัว 30% ลั่นผนึกสินเชื่อมีหลักประกัน หลังเข้าถือหุ้นกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง หรือ KTBL รุกอัพเกรดผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมบัตรกดเงิน เคทีซีพี่เบิ้ม” ครั้งแรกในไทย
วันที่ 2 กันยายน 2564 นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้บริษัทยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังในการพิจารณาเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้มีความเข้มงวดและรัดกุม เพื่อรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่อและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้อยู่ในระดับเหมาะสม โดยยังคงกลยุทธ์ 2 ส่วน คือ การหาลูกค้าใหม่ และการทำแคมเปญในลูกค้าเก่า
โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เคทีซีมียอดลูกหนี้ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 2.94 หมื่นล้านบาทลดลง 2.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีฐานลูกค้าจำนวน 8.02 แสนราย ในขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมที่อยู่ 6.37 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ภายในสิ้นปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารักษาพอร์ตสินเชื่อให้อยู่ในระดับ 2.94 หมื่นล้านบาท และรักษาเอ็นพีแอลให้อยู่ในกรอบไม่เกิน 3% ถือว่าต่ำกว่าระบบที่อยู่ 3.5% ภายใต้การพิจารณาสินเชื่ออย่างรัดกุม ส่งผลให้ยอดการอนุมัติสินเชื่อปรับลดลง 30% จากภาวะปกติ
สำหรับลูกหนี้ทุกผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือกับเคทีซี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 รวม 21,564 บัญชี ด้วยยอดหนี้คงค้างชำระที่ 1,545 ล้านบาท และมีสมาชิกทุกผลิตภัณฑ์ขอพักชำระหนี้ 2 เดือน รวม 13,370 ราย ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2564
“ตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลเรายังมองว่ามีโอกาสเติบโตและยังมีความต้องการสินเชื่ออีกจำนวนมาก แต่ภายใต้สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ยังคงมีความท้าทายทำให้เรายังคงต้องระมัดระวังเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อ ภายใต้ 4 กลยุทธ์ที่ผลักดัน คือ ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และลูกค้าที่มีวินัยก็ช่วยเรื่องเคลียร์หนี้ให้ 100% รวมถึงพัฒนาโปรดักต์ให้มีความสะดวกผ่านฟังก์ชั่น รูด โอน กด ผ่อน ผ่าน KTC Mobile Application และการขยายฐานสมาชิกใหม่ด้วยแคมเปญดอกเบี้ย 0.93% นานถึงสิ้นปี เพื่อจูงใจลูกค้าที่มีรายได้สูงและต้องการใช้เงินก้อน”
ทั้งนี้ เพื่อขยายฐานลูกค้า ล่าสุด เคทีซีได้อัพเกรดผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมบัตรกดเงิน เคทีซี พี่เบิ้ม” ครบฟังก์ชันรูด-โอน-กด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของวงการสินเชื่อไทยที่มีการออกผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ เพื่อให้คนไทยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการต่อยอดใช้จ่ายสิ่งจำเป็น เหมาะสำหรับผู้มีรถมอเตอร์ไซค์และมีเล่มทะเบียนเป็นชื่อตนเอง ชูจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ “กู้ง่าย ได้ไว อนุมัติรับเงินก้อนใหญ่พร้อมบัตรกดเงินสด” โดยที่สมาชิกสามารถนำรถมอเตอร์ไซค์ไปใช้ต่อได้ อีกทั้งยังรับวงเงินสินเชื่อแบบหมุนเวียน และเบิกถอนวงเงินจากบัตรกดเงินสดเพื่อใช้ยามฉุกเฉินได้
นางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” กล่าวว่า เคทีซี พี่เบิ้ม ยังคงตั้งเป้าปล่อย 1,000 ล้านบาท โดยกลยุทธ์ธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะปรับตัวให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์มากขึ้น และคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย 4 เรื่องหลักคือ 1) ขยายขอบเขตพอร์ตผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้มีความหลากหลายครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากขึ้น จากการมีกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) เข้ามาเสริมทัพ ทำให้เราสามารถนำเสนอสินเชื่อทะเบียนรถแบบโอนเล่ม การทำรีไฟแนนซ์สินเชื่อทะเบียนรถ และการทำสินเชื่อรถยนต์มือสอง ซึ่งจะเริ่มในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ภายหลังเปิดตัวสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วราว 10 ล้านบาท
โดย 2.การเซ็นสัญญาแบบดิจิทัล นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในขั้นตอนการสมัครและอนุมัติสินเชื่ออย่างต่อเนื่องตามหลักการของดิจิทัล ทวิน (Digital Twin) โดยตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ที่ผ่านมา “เคทีซี พี่เบิ้ม” ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำสัญญาเป็นแบบดิจิทัล ไม่ต้องใช้เอกสารและเซ็นสัญญาบนกระดาษอีกต่อไป ลดขั้นตอนการสมัครอยู่ที่ประมาณ 1.5 ชั่วโมง สะดวกปลอดภัยและลดการสัมผัส และ 3.ขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีนี้ โดยจะผูกไปกับสาขาของธนาคารกรุงไทยทุกภูมิภาค และผนึกกำลังเข้ากับสาขาเครือข่ายของ KTBL จะยิ่งช่วยให้ขยายได้รวดเร็วขึ้น
ส่วน 4.ทำให้จุดแข็งของเคทีซี พี่เบิ้ม เป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ด้วยความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อม 4 จุดแข็ง วงเงินใหญ่ อนุมัติใน 2 ชั่วโมง และรับเงินทันที รับสมัครสมาชิกไม่จำกัดอาชีพ และบริการพี่เบิ้ม เดลิเวอรี่ (P Berm Delivery) อนุมัติสินเชื่อถึงที่ ไม่มีวันหยุด ซึ่งเป็นจุดขายที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น
“ภาพรวมของอุตสาหกรรมสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในช่วง 6 เดือนแรกธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (จำนำทะเบียน) สิ้นสุดไตรมาส 2 มียอดลูกหนี้ 158,493 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงค์) ถือครองตลาดเป็นหลักด้วยสัดส่วนประมาณ 82% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด และธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (Hire Purchase) สิ้นสุดไตรมาส 2 มียอดลูกหนี้ 1,176,279 ล้านบาท โดยมีธนาคารพาณิชย์ถือครองตลาดเป็นหลัก ด้วยสัดส่วนประมาณ 70% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด อย่างไรก็ดี ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ตลาดสินเชื่อมีความไม่แน่นอนและเปราะบางสูง จะเน้นการปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้พอร์ตเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าที่จะโตเร็วแล้วมีความเสี่ยง โดยยังคงตั้งเป้าเติบโตสิ้นปีนี้ที่ 1,000 ล้านบาท”
อ่านข่าวต้นฉบับ: KTC ชี้ พิษโควิดเข้มปล่อยสินเชื่อรักษาพอร์ต 2.94 หมื่นล้าน กดหนี้เสียต่ำ 3%