เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์สอดคล้องกับสัญญาณเงินทุนไหลเข้า ขณะที่หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบแต่ปรับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน จับตาปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามสัปดาห์หน้า ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์สอดคล้องกับสัญญาณเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรไทย (นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรไทยประมาณ 4.76 หมื่นล้านบาทระหว่างวันที่ 8-12 พ.ย.) ประกอบกับน่าจะมีอานิสงส์จากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของกลุ่มผู้ส่งออกตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก
อย่างไรก็ดีเงินบาทลดช่วงแข็งค่าลงบางส่วนระหว่างสัปดาห์ เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นหลังจากอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี ซึ่งทำให้นักลงทุนเริ่มให้น้ำหนักต่อความเป็นไปที่เฟดอาจจะจำเป็นต้องส่งสัญญาณคุมเข้มทางการเงินเร็วขึ้น
ในวันศุกร์ (12 พ.ย.) เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 32.80 เทียบกับระดับ 33.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 พ.ย.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.50-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของไทย ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนพ.ย. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคานำเข้าและส่งออก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,633.94 จุด เพิ่มขึ้น 0.47% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 72,080.92 ล้านบาท ลดลง 6.28% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.99% มาปิดที่ 558.09 จุด
หุ้นไทยขยับขึ้นตามตลาดหุ้นภูมิภาค โดยมีแรงหนุนช่วงต้นสัปดาห์จากแรงซื้อของต่างชาติ อย่างไรก็ดีหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงกลางสัปดาห์เนื่องจากขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ
ประกอบกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศในภาพรวมถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และการคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ในสัปดาห์นี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงจากเรื่องการปรับเกณฑ์คัดหุ้นเข้าดัชนี SET50 และ SET100 ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,615 และ 1,600 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,675 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนต.ค. ตลอดจนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค.ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
อ่านข่าวต้นฉบับ: เงินบาทขยับแข็งค่าตลอดสัปดาห์ จับตา 3 ปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า