การเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นแรงส่งปลุกธุรกิจต่าง ๆ ให้กลับมาคึกคักขึ้น ไม่เฉพาะแค่ภาคการท่องเที่ยวที่แม้จะฟื้นได้อย่างช้า ๆ ก็ยังถือว่าเป็นสัญญาณบวกแม้แต่ธุรกิจโทรคมนาคมก็ยังได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มลูกค้าที่สร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำเช่นกัน ยังไม่นับมู้ดจับจ่ายที่่น่าจะกลับมาคึกคักขึ้น
นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การกลับมาเปิดประเทศส่งผลดีกับธุรกิจสื่อสารด้วยเช่นกัน และน่าจะทำให้ผลประกอบการในไตรมาส 4/2564 เติบโตกว่าไตรมาส 3 ที่ผ่านมาอย่างแน่นอน อีกทั้งช่วงไตรมาส 4 ของทุกปีจะเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ขณะที่ในไตรมาส 3 นอกจากเป็นช่วงหน้าฝนแล้ว ปีนี้ยังต้องเผชิญกับมาตรการล็อกดาวน์ก่อนจะเริ่มกลับมาเปิดอีกครั้งในเดือน ก.ย.
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจโทรคมนาคมช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ ได้แก่ 1.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จากปีก่อนรัฐบาลมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง, เราชนะ, เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น ขณะที่ในปีนี้มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยกว่าปีก่อน แต่คาดว่าในเดือน ธ.ค.รัฐบาลน่าจะปล่อยโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มในช่วงเทศกาลจับจ่ายปลายปี
และ 2.นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาจากนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลตั้งแต่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา แม้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้จ่ายช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้อาจยังไม่มากเพราะส่วนใหญ่เตรียมตัวไม่ทัน และคาดว่าจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามามากขึ้นในปลายเดือน พ.ย.และต้นเดือน ธ.ค. ซึ่งถือเป็นช่วงไฮซีซั่นน่าจะเป็นผลดีต่อธุรกิจโทรคมนาคมโดยรวม
“ไตรมาส 3 เป็นช่วงปิดเมือง เงินในกระเป๋าของผู้บริโภคก็ลดลง แต่ไตรมาส 4 บรรยากาศต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น มีการเปิดเมืองเปิดประเทศ ในแง่อารมณ์จับจ่ายใช้สอยก็ดีขึ้น เงินในกระเป๋าก็เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายในธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งเป็นบริการที่เกี่ยวข้องเติบโตขึ้นด้วย อย่างที่บอกคิดว่าผลประกอบการไตรมาส 4 ของค่ายมือถือทั้ง 3 รายน่าจะโตขึ้นกว่าไตรมาส 3 แน่นอน และอาจส่งผลต่อข้ามไปถึงต้นปี 2565 เว้นแต่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่”
เมื่อพิจารณาภาพรวมธุรกิจโทรคมนาคมในปี 2564 เทียบปี 2563 ต้องถือว่าไม่ดีเพราะปีนี้ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ลากยาวเกือบ 6 เดือน จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีจำนวนมาก ต่างจากปี 2563 ที่ผ่านมามีการล็อกดาวน์ในช่วงสั้น ๆ แค่เดือนครึ่งก็กลับมาเปิดเมืองได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีช่วงเวลาที่ผู้บริโภคใช้ชีวิตได้ตามปกตินานกว่าปีนี้
“ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ลากยาวหลายเดือน ทำให้ผู้ประกอบการที่มีกระแสเงินสดน้อยต้องปิดกิจการ กระทบกำลังซื้อผู้บริโภคกลุ่มฐานล่างและฐานกลาง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การท่องเที่ยว พอสมควร ขณะที่กลุ่มฐานบนและฐานกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ แต่โดยรวม ๆ แล้วทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังกลับมาเปิดประเทศแล้วจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 โดยเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศไทยอย่างน้อย 50% จากช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด และจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้ามาสนับสนุนรายได้ในกลุ่มธุรกิจสื่อสารให้ฟื้นกลับมาเติบโตได้ เพราะการเติบโตของกลุ่มสื่อสารไม่ได้ลดลงมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ
นายพิสุทธิ์กล่าวด้วยว่า การแข่งขันในธุรกิจสื่อสารจะมีความชัดเจนขึ้นด้วย โดยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีของน้อย เช่น ดีแทค และกลุ่มที่มีความพร้อมครบทุกอย่าง ทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์, บริการ 5G และคอนเทนต์ต่าง ๆ คือ เอไอเอส และทรูมูฟ เอช ซึ่งผลประกอบการที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มที่มีของน้อยแพ้กลุ่มที่มีของครบ
โดยเอไอเอสและทรูมูฟ เอช รายได้เติบโตจากธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน และการให้บริการลูกค้าองค์กร ขณะที่รายได้การให้บริการโทรศัพท์มือถือไม่เติบโต เพราะตลาดเริ่มอิ่มตัว ขณะที่ดีแทคไม่มีฐานรายได้จากอินเทอร์เน็ตบ้าน และลูกค้าองค์กร ทำให้ผลประกอบการลดลงมากที่สุด
สำหรับทิศทางปี 2565 กลุ่มที่มีของน้อยอย่าง “ดีแทค” แม้จะยังไม่มีสัญญาณ 5G ให้บริการแต่ในแง่กำไรอาจไม่ได้หายไปแต่จะลดลง ขณะที่รายได้อาจเติบโตได้ยากเนื่องจากธุรกิจมือถือเริ่มชะลอตัวลง
“การกระตุ้นให้ตลาดเติบโตจะมาจากการเติมบริการใหม่ ๆ เช่น กระตุ้นให้เปลี่ยนจาก 4G เป็น 5G ซึ่งในปีหน้าจะได้เห็นภาพการแย่งลูกค้ามากขึ้นด้วยโปรโมชั่นต่าง ๆ เช่น การให้สิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าย้ายค่ายโดยเฉพาะการช่วงชิงฐานลูกค้ากลุ่มไฮเอนด์ของดีแทคที่มีเครื่อง 5G แล้วแต่ยังไม่มีสัญญาณ 5G ให้ได้ทดลอง”
อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของบริการ 5G คือ เครื่องลูกข่าย ปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มระดับบน ที่มีระดับราคาเครื่อง 15,000 บาทขึ้นไป เช่น ไอโฟน 13, ซัมซุง Galaxy Z Flip เป็นต้น ถัดมาเป็นกลุ่มระดับกลาง ที่ราคา 6,000-15,000 บาท และระดับล่างที่ราคาเครื่องต่ำกว่า 6,000 บาท
ซึ่งลูกค้าในกลุ่มฐานบนและกลางเริ่มเปลี่ยนเครื่องมาเป็น 5G รวมแล้วประมาณ 2 ล้านราย แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่กลุ่มกลางที่เครื่อง 5G ยังมีราคาค่อนข้างสูง แม้จะเริ่มเข้ามามากขึ้น แต่ก็ยังสูงอยู่จึงประเมินว่าในปีนี้จะมีผู้เปลี่ยนเครื่องเป็น 5G เพียง 4 ล้านราย
“จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะทำให้คนกลุ่มฐานกลางและล่างเริ่มมีกำลังซื้อ แต่อาจยังไม่ได้ทำให้ 5G เป็นแมส เพราะเครื่องที่มีราคาต่ำกว่า 6,000 บาทยังมีไม่มาก จากปัญหาชิปขาดที่ยังไม่คลี่คลายและคาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงกลางปี 2565”
นายพิสุทธิ์มองว่า เมื่อเครื่อง 5G ที่มีราคาต่ำกว่า 6,000 บาทยังน้อย ขณะที่ราคาแพ็กเกจบริการ 5G ก็ยังมีราคาค่อนข้างสูง เฉลี่ยที่ 700 บาทต่อเดือน ทำให้กลุ่มลูกค้าที่อยู่ในระดับฐานล่างจ่ายไม่ไหว เนื่องจากปัจจุบันจ่ายอยู่ที่ 200-300 บาทต่อเดือน ส่งผลให้การเปลี่ยนจากระบบ 4G เป็น 5G เกิดขึ้นช้าตามไปด้วย
“ถ้ามีเครื่อง 5G ราคาต่ำกว่า 6,000 บาทเข้ามาในตลาด การเปลี่ยนเครื่องจะพุ่งขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ คือ กลุ่มที่เปลี่ยนเครื่องมาเป็น 5G จำกัดอยู่เฉพาะแค่ระดับกลางและบนเท่านั้น แต่ถ้าราคาเครื่องถูกลงการเปลี่ยนเครื่องก็จะเพิ่มขึ้น อาจเติบโตก้าวกระโดดถึง 2 เท่า จากที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 4 ล้านในปีนี้เพิ่มเป็น 12 ล้าน”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 2564) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส มีรายได้รวม 130,995 ล้านบาท เติบโต 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 126,816 ล้านบาท มาจากรายได้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน เติบโตขึ้นจากกระแสทำงานและเรียนที่บ้าน
และธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรยังคงเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการบริการคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ และไอทีโซลูชั่น เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ พยายามปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ส่วนบริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มีรายได้รวม 9 เดือนปีนี้อยู่ที่ 59,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,444 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปี 2563 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 58,288 ล้านบาท
ทั้งนี้ เฉพาะไตรมาส 3 ปีนี้มีรายได้รวม 19,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากค่าเช่าเครือข่าย 2300 MHz จาก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ
สำหรับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวมครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย 2564) อยู่ที่ 69,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการเติบโตหลัก ๆ มาจากการให้บริการบรอดแบนด์และรายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่
อ่านข่าวต้นฉบับ: สแกนธุรกิจสื่อสารโค้งท้าย มู้ดจับจ่ายฟื้น-ชิปขาดฉุด 5G