สัมภาษณ์พิเศษ
ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง แม้จะเพิ่งผ่านพ้นการเลือกตั้งมา ทว่าการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลยังต้องลุ้นอีกหลายชอต บทสรุปสุดท้าย จะเป็นเข็มทิศให้ประเทศเดินหน้าต่อไป ซึ่งเศรษฐกิจภายหลังเลือกตั้งจะไปต่ออย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ถึงทิศทางการบริหารเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้
“ดร.พิพัฒน์” กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมา ทำให้อาจจะเห็นทิศทางของนโยบายที่ชัดขึ้น แต่ก็ยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นอาจจะต้องรอดูนโยบายของสองพรรคใหญ่ว่าถ้าเอามาชนกันแล้ว จะมีนโยบายอย่างไรบ้าง โดยในภาพใหญ่ ประเด็นที่ 1 คือ เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 ระยะสั้น คงจะมีแรงส่งขึ้นไป จากภาคการท่องเที่ยว
แต่ความท้าทายถัดไป คือ เห็นแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่โตช้าลงมาเรื่อย ๆ ตามเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากร
โดยการที่หลังเลือกตั้งสัปดาห์แรก ตลาดหุ้นตอบรับไม่ดี คิดว่าเป็นความเซอร์ไพรส์ เพราะต้องยอมรับว่า ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ทุกฝ่ายก็อาจจะมองไว้อยู่แล้วว่าจะมีการเปลี่ยนขั้ว แต่อาจจะไม่คิดว่าพรรคก้าวไกลจะกลายมาเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ส่วนใหญ่คาดการณ์กันว่า พรรคเพื่อไทยจะมาเป็นอันดับหนึ่ง
“ผมมองว่า เรื่องหุ้นตกนี้เป็นการปรับ expectation (ความคาดหวัง) ที่ก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่คาดอย่างนี้ พอผลออกมาเลยปรับ”
ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าใครจะได้เก้าอี้ รมว.คลัง ซึ่งแต่ละพรรคจะแตกต่างกันไป อย่างไรก็ดี ไม่ว่าใครมาเป็น รมว.คลัง มีหน้าที่สำคัญต้องดูแลอยู่ 2-3 เรื่อง ได้แก่ คุมกระเป๋าเงิน ว่าอันไหนจะใช้ อันไหนไม่ใช้ ก็ขึ้นอยู่กับตัวนโยบาย สอง การหารายได้ เพราะถ้ามีแต่นโยบายการใช้จ่าย ก็จะเจอปัญหาในเรื่องของการขาดดุล
ทั้งนี้ หากพรรคก้าวไกลเป็นหลัก ก็พูดชัดเจน ว่าจะเพิ่มค่าใช้จ่ายเรื่องรัฐสวัสดิการ ทั้งสวัสดิการเด็ก สวัสดิการคนพิการ สวัสดิการคนแก่ และอื่น ๆ ซึ่งใช้เงินกว่า 6 แสนล้านบาท แต่ก็บอกด้วยว่าจะเอาเงินจากที่ไหนมาจ่าย มีทั้งการลดการใช้จ่าย
เช่น ลดขนาดกองทัพ ผันเงินส่วนอื่น ๆ มาใช้ แล้วก็มีขึ้นภาษี ซึ่งพูดถึงภาษี 3 ตัวใหญ่ ๆ ได้แก่ การเก็บภาษีความมั่งคั่ง การปฏิรูปการเก็บภาษีที่ดิน และที่สำคัญ การขึ้นภาษีกำไรนิติบุคคล โดยอาจจะลดภาษีสำหรับ SMEs ซึ่งสำหรับตลาดหุ้น การขึ้นภาษี ก็แปลว่ากำไรหลังภาษีจะลดลง
“ฉะนั้น ถ้าก้าวไกลมา มีการใช้จ่ายอย่างที่บอกทั้งหมดจริง ๆ ก็ต้องมีฝั่งรายได้ที่ต้องเพิ่ม ก็คือ ขึ้นภาษี ซึ่งการขึ้นภาษีก็ต้องตั้งคำถามว่าใครจะโดนบ้าง ถ้ามองในแง่ของบริษัทจดทะเบียนก็อาจจะได้รับผลกระทบโดยรวมจากภาษีที่อาจจะสูงขึ้น แต่คำถามก็คือ กระทบจริงไหม ? ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า แล้วพอเป็นรัฐบาลพรรคร่วม นโยบายพวกนี้ จะเจรจาตกลงกันได้ไหม”
สำหรับประเด็นที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยนั้น “ดร.พิพัฒน์” กล่าวว่า ถ้าเป็นเรื่องการลงทุนในเมืองไทย แน่นอนประเด็นการเมืองไทยน่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด เพราะว่ากระทบในหลาย ๆ อุตสาหกรรม นอกเหนือจากพลังงาน โรงไฟฟ้าแล้ว วันนี้คนก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำด้วย
“ช่วงนี้เรายังมีเครื่องจักรที่ดี คือ การท่องเที่ยวที่ทยอยดีขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้แนวโน้มนักท่องเที่ยวจีน อาจจะไม่ได้กลับมาเร็วเหมือนกับที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ แต่ตัวที่สำคัญและน่าจะเป็นความไม่แน่นอนสำหรับเศรษฐกิจโดยรวมก็คือ ภาวะเศรษฐกิจภายนอก ที่หลาย ๆ คนมองว่าอาจจะเข้าสู่ภาวะการชะลอตัว
อันนี้น่าจะเป็น key headwind ที่สำคัญ คือ วันนี้ เราเหมือนเป็นเครื่องบินที่บินอยู่ด้วยเครื่องยนต์เดียวแล้ว คือเรื่องของการท่องเที่ยว ในขณะที่การส่งออกก็มีสัญญาณแผ่วลง การบริโภคและการลงทุน เราก็เริ่มเห็น เริ่มโตช้าลง”
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ขึ้นอยู่กับว่า 1.การเมือง ถ้าคลี่คลายได้เร็ว จัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว ออกมาผลักดันนโยบายได้ดี ก็น่าจะสร้างความมั่นใจได้ แต่ถ้าลากยาวออกไป คือ ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ส.ว.ไม่โหวต กว่าจะเลือกนายกฯได้ ลากไปอีกหลายเดือน ก็น่ากังวล
2.นักท่องเที่ยวมาตามนัดไหม เพราะวันนี้เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวจีนเริ่มชะลอ และ 3.เศรษฐกิจโลก หากหลีกเลี่ยงการถดถอยได้ก็จะเป็นปัจจัยบวก
“นักท่องเที่ยวถ้ามาได้มาก ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยก็น่าจะดีขึ้น แล้วถ้ารัฐบาลตั้งได้ดีด้วย ก็น่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก แต่ถ้าเจอทั้ง 3 เรื่องคือ การเมือง นักท่องเที่ยว แล้วก็เศรษฐกิจข้างนอก ไม่ดี ครึ่งหลังก็ยังมีความน่ากังวลอยู่ ซึ่งเรายังคงจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 3.3% แม้ว่าตัวเลขไตรมาสแรกจะออกมาดีกว่าที่เราคาดไว้”
สำหรับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง รมว.คลังนั้น “ดร.พิพัฒน์” กล่าวว่า รมว.คลังเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นคนคุมกระเป๋าเงินของประเทศ ฉะนั้นต้องเป็นคนที่เห็นภาพใหญ่ ว่าจะพาทิศทางของนโยบายของรัฐบาล หรือพาประเทศไปทางไหน จะต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง จะต้องใช้จ่ายอย่างไร
ถ้าต้องมีการขาดดุล จะคุมเรื่องของการขาดดุลอย่างไร จะวางแผนสถานะทางการคลัง ระยะกลาง ระยะยาวไว้อย่างไร รวมถึงคำถามที่ยากขึ้น อย่างเช่น ถ้าจะใช้จ่ายเพิ่ม แล้วรายได้จะมาจากไหน ซึ่งอาจจะต้องพูดถึงการขึ้นภาษี ต้องประเมินผลกระทบของนโยบายเหล่านี้
“อยากได้คนที่เห็นภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ และเป็นคนคุมว่า นโยบายการใช้จ่าย นโยบายรายได้ที่เหมาะสมกับการผลักดันประเทศ คืออะไร ต้องเข้าใจทิศทางของประเทศ เข้าใจหลักการทำงบประมาณ เรื่องของนโยบาย รายได้ เข้าใจภาคเศรษฐกิจและตลาดการเงินเป็นอย่างดี เพราะหลาย ๆ เรื่องก็มาส่งผลกระทบ และต้องเป็นคนที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้ เพราะสุดท้ายแล้ว รมว.คลัง ก็เป็นหน้าตาของประเทศในฝั่งเศรษฐกิจจริง ๆ”
“ดร.พิพัฒน์” กล่าวว่า สำหรับนโยบายต่าง ๆ ที่ทำมาก่อนนี้ วันนี้เป็นวันที่อาจจะต้องทบทวนว่ามีการใช้จ่ายอะไรที่ไม่คุ้มค่าหรือเปล่า หรือทำไปแล้วไม่ได้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม ก็ต้องเริ่มทยอยตัดลด เนื่องจากภาระทางการคลังจะสูงขึ้น จึงต้องกลับมาทบทวนกันมาก ๆ เพื่อไม่ทำอะไรที่สิ้นเปลือง
“ประเด็นสำคัญที่เห็นก็คือ เหมือนรัฐบาลไทยเสพติดการขาดดุล ถ้าจำได้ แม้กระทั่งก่อนโควิดก็จะเห็นประมาณนี้ขาดดุล 2-3% ของจีดีพีเกือบทุกปี ช่วงโควิดก็ใส่ไปอีก 1.5 ล้านล้านบาท ขาดดุลปีละ 6-7% นั่นคือสาเหตุที่หนี้สาธารณะกระโดดขึ้นมา
ตอนนี้พอกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เราก็ยังขาดดุล 2-3% คำถามคือ เราจะทำอย่างไรได้ไหม ให้การขาดดุลลดลง ซึ่งทำได้ 2 ทาง คือ ลดรายจ่าย แล้วก็เพิ่มรายได้ ซึ่งแน่นอนว่าเพิ่มรายได้ ไม่มีใครอยากทำ ดังนั้นก็ต้องตัดไขมันออก”
เมื่อพูดถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ “ดร.พิพัฒน์” กล่าวว่า การกระตุ้นยังพอจะทำได้ แต่จะต้องเป็นการกระตุ้นที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น มากกว่าการเหวี่ยงแห เพราะภาวะปัจจุบัน เศรษฐกิจอยู่โหมดของการค่อย ๆ ฟื้นตัว ไม่ได้อยู่ในช่วงโควิด-19 ที่ผลกระทบรุนแรงและกว้างที่จำเป็นต้องกระตุ้นแบบกระจาย
“วันนี้ต้องยอมรับว่าตอนนี้ยังมีคนที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ คนที่ยังไม่ค่อยฟื้นจากโควิด คนที่ได้รับผลกระทบจากหนี้ ต้องไปหาคนกลุ่มนั้นที่ต้องการการช่วยเหลือ ต้องการกระตุ้นเป็นพิเศษ เป็นคนกลุ่มไหน แต่ว่าการแจกเงินแล้วหว่านไปเลย
ผมคิดว่า หนึ่งคือ มันสิ้นเปลือง สอง อาจจะได้รับผลทางเศรษฐกิจไม่คุ้มค่า เพราะวันนี้ถ้าเราดูจริง ๆ เราเริ่มมีข้อจำกัดของทรัพยากรทางการคลังเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นถ้ากระตุ้น ก็ต้องมั่นใจว่าจะยิงถูกจุด ได้ผลดี คุ้มค่า”
“ในระยะสั้น คงต้องดูว่ามีอะไรติดขัดบ้าง โดยดูว่าใครมีความเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ การยกระดับธุรกิจ อย่างเอสเอ็มอี รายย่อย เน้นการช่วยระยะสั้น แต่โจทย์ระยะกลาง ระยะยาว ก็คือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้นได้
เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย พอการท่องเที่ยวกลับไปที่เดิมแล้ว หลังจากนั้นก็น่าจะโตขึ้นอย่างช้า ๆ และไม่มีทางเป็น engine of growth ได้อีกต่อไป คำถามคือ แล้วอะไรจะมาเป็น engine of growth ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งวันนี้เราเห็นไม่ชัด”
ส่วนระยะยาวที่ต้องทำ คือการลงทุน เพราะไม่ค่อยมีมาสักระยะหนึ่งแล้ว ไม่ค่อยได้ยินคนมาลงทุนใหม่ ๆ ในเมืองไทย หรือคนไทยลงทุนโครงการใหม่ ๆ ส่วนใหญ่จะได้ยินแต่คนไทยไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งพอขาดการลงทุน ก็ทำให้ความสามารถในการสร้างรายได้ในอนาคตอาจจะลดลง
ฉะนั้น โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล นอกเหนือจากยกระดับของเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ยังอาจจะต้องพูดถึงต้องทำยังไงให้การลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะสร้างรายได้ในอนาคตเพิ่มเติม
“ความหวังต่อรัฐบาลใหม่ ก็คือนโยบายที่จะเข้ามา จะใส่ประเด็นเชิงโครงสร้างอันนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นความจำเป็นที่จะต้องจัดการ ทั้งที่ว่าเครื่องจักรของเศรษฐกิจใหม่ จะเป็นอะไร และจะผลักดันให้เราสามารถมีความสามารถในการแข่งขันได้หรือเปล่า ที่ผ่านมาเราอาจจะขาดการลงทุนทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชน ทำอย่างไรให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจกลับมาโตได้ เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย ผมกลัวว่าแนวโน้มเศรษฐกิจอาจจะโตช้าลงไปเรื่อย ๆ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP กล่าว
อ่านข่าวต้นฉบับ: KKP จับตาตั้งรัฐบาลขั้วใหม่ สเป็กขุนคลัง-โจทย์ใหญ่หลังเลือกตั้ง