ตลาดจับตารายงานการประชุมเฟดคืนนี้ ขณะที่การเจรจาเพดานหนี้สหรัฐยังไร้ความคืบหน้า ขณะที่เส้นตายกำหนดไว้วันที่ 1 มิ.ย. 66
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/5) ที่ระดับ 34.58/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/5) ที่ระดับ 34.69/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากแรงขายทำกำไรระยะสั้น หลังวานนี้บาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย หลังจากการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้รอบใหม่ ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อวานนี้ (23/5) ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ และทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าสหรัฐอาจจะผิดนัดชำระหนี้ โดยมีกำหนดเส้นตายในวันที่ 1 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันที่นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐกล่าวว่า สหรัฐอาจไม่เหลือเงินเพียงพอสำหรับการชำระหนี้
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 4.1% สู่ระดับ 683,000 ยูนิตในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 665,000 ยูนิต จากระดับ 656,000 ยูนิตในเดือน มี.ค.
ขณะที่เอสแอนด์พี โกลบอลรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.5 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน จากระดับ 53.4 ในเดือน เม.ย. โดยดัชนี PMI อยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดีนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ เฟดจะเปิดเผยรายงานการประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-3 พ.ค. ส่วนในวันพรุ่งนี้ (25/5) สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2566 (ประมาณการครั้งที่ 2)
สำหรับในวันศุกร์ (26/5) จะมีการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน เม.ย. โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะท่าที ส.ว.จะโหวตให้พรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ยังคงถ่วงการซื้อขายอยู่เป็นระยะ รวมถึงต้องติดตามกระแสเงินทุนต่างชาติในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยด้วย โดยวานนี้ต่างชาติขายสุทธิ 3,832 ล้านบาท สำหรับตลาดพันธบัตรไทยและขายสุทธิ 3,852 ล้านบาท สำหรับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.45-34.67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.52/53 บาท/ดอลลาร์
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/5) ที่ระดับ 1.0772/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/5) ที่ระดับ 1.0780/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ภายหลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของยูโรโซน
โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 53.3 ในเดือน พ.ค. จากระดับ 54.1 ในเดือน เม.ย. แม้ดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะขยายตัว แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ต่ำกว่าโพลของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งคาดไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 53.5
ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0769-1.0795 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0776/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/5) ที่ระดับ 138.42/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/5) ที่ 138.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า สหรัฐอาจจะผิดนัดชำระหนี้ หากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้ได้
โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 138.24-138.73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 138.53/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ วันที่ 2-3 พฤษภาคม (24/5), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (25/5), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2566 (ประมาณการครั้งที่ 2) (25/5), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือน เม.ย. (25/5), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน เม.ย. (26/5) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน เม.ย. (26/5)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.25/-10.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.50/-9.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
อ่านข่าวต้นฉบับ: ตลาดจับตารายงานการประชุมเฟดคืนนี้ เจรจาเพดานหนี้สหรัฐยังไม่คืบหน้า