ธนาคารกสิกรไทยคาด 1 เดือนข้างหน้าเงินบาทผันผวนสูงในกรอบ 33.80-35.40 บาทต่อดอลลาร์ ตามการส่งสัญญาณเฟด ชี้ก่อนเลือกตั้งนักลงทุนต่างชาติซื้อบอนด์ระยะสั้น 1.37 แสนล้านบาท แห่เก็งกำไรค่าเงินก่อนเทขาย 8.2 หมื่นล้านบาทหลังเลือกตั้ง หนุนเงินบาทอ่อนค่า มองไทยตั้งรับฟันด์โฟลว์ไหลเข้าเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ กดดันสิ้นปีเงินบาทแข็งค่า 33.80 บาทต่อดอลลาร์ พร้อมคงประมาณการจีดีพีทั้งปี 3.7% อานิสงส์ท่องเที่ยว 30 ล้านคน ลงทุนภาครัฐโต 2.3% จับตาค่าแรงทำเงินเฟ้อเร่งขึ้น กนง.อาจปรับดอกเบี้ยสูงกว่า 2%
วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทในอีก 1 เดือนข้างหน้าจะมีความผันผวนมากขึ้น โดยเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-35.40 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากต้องรอดูธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณในการประชุมในเดือนมิถุนายนจะออกมาในลักษณะใด อย่างไรก็ดี กสิกรไทยคาดว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน
ทั้งนี้ แนวโน้มการเคลื่อนย้ายเงินทุน (ฟันด์โฟลว์) จะเริ่มเห็นทิศทางไหลกลับเข้ามาหลังการประชุมในเดือนกันยายน โดยจะเริ่มไหลเข้าตลาดเอเชียในไตรมาสที่ 3/2566 และภายในไตรมาสที่ 4/2566 จะเริ่มเห็นสัญญาณเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าตลาดไทย ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภาคการท่องเที่ยวของไทยที่มีอัตราการขยายตัวได้ดี เพราะเป็นช่วงฤดูกาลการท่องเที่ยว ทำให้เงินบาทแข็งค่า ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่นักลงทุนให้ความสนใจตลาดไทย จึงประเมินกรอบค่าเงินบาทสิ้นปี 2566 แข็งค่าอยู่ที่ 33.80 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี หากดูแนวโน้มฟันด์โฟลว์ในช่วง 1-2 อาทิตย์ที่ผ่านมา จะพบว่ามีสัญญาณการเก็งกำไรค่าเงินจากนักลงทุน โดยนับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมาก่อนจะมีการเลือกตั้ง จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตรระยะสั้น (บอนด์) อยู่ที่ 1.37 แสนล้านบาท แต่หลังเลือกตั้งแล้วเสร็จ พบว่านักลงทุนต่างชาติเทขายบอนด์ระยะสั้นออกทันทีราว 8.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่า ซึ่งหลังจากนี้ยังมองว่ามีความเสี่ยงที่ค่าเงินจะยังผันผวนอยู่
“เราต้องรอดูสัญญาณว่าเฟดจะสื่อสารออกมาแบบไหนในการประชุมเดือน มิ.ย. จะคงไว้และแทงกั๊กว่าจะยังไม่มีการลดดอกเบี้ย ดังนั้น เราจะยังไม่เห็นฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ในช่วงนี้ แต่จะเริ่มเข้ามาในไตรมาสที่ 3 แต่การไหลเข้าคงไม่รุนแรงมาก ส่วนไทยจะเป็นไตรมาส 4 จะเห็นเยอะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เพราะเป็นฤดูการท่องเที่ยว และนักลงทุนต่างชาติจะดูประเด็นนี้เป็นหลัก”
นายกอบสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะเห็นว่าหลายสำนักมองว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 2/2566 จะขยายตัวได้มากกว่าไตรมาสที่ 1/2566 อยู่ที่ระดับ 1.3% ถือว่าขยายตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวได้มากกว่า 1% สะท้อนภาพอานิสงส์การท่องเที่ยวที่มีการเติบโต
โดยในส่วนของกสิกรไทยยังคงกรอบประมาณการอัตราการเติบโตจีดีพีทั้งปี 2566 อยู่ที่ 3.7% โดยแรงขับเคลื่อนมาจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 28.5-30 ล้านคน หากนับตั้งแต่ต้นปี-เมษายนมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วราว 8.6 ล้านคน และในไตรมาสที่ 1/2566 มียอดใช้จ่ายภาคท่องเที่ยวอยู่ที่ 6.35 หมื่นล้านบาท แม้ว่าตัวเลขยังห่างจากช่วงก่อนโควิด-19 แต่แนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า และดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเป็นบวกได้
ขณะที่การลงทุนภาครัฐมองว่ายังขยายตัวได้ 2.3% แม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะมีผลต่องบประมาณการลงทุน โดยหากดูในช่วงปี 2557 ที่มีการรัฐประหาร จะเห็นว่างบประมาณการลงทุนอยู่ที่ 2.88 แสนล้านบาท และหลังจากมีการรื้องบประมาณและจัดตั้งรัฐบาล พบว่าตัวเลขการลงทุนทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.60 แสนล้านบาทต่อปี หรือขยายตัวเฉลี่ยกว่า 2% ต่อปี และสัดส่วนการเบิกจ่ายจะเฉลี่ยอยู่ที่ 74% ของงบประมาณที่ตั้งไว้
อย่างไรก็ดี นโยบายพรรคการเมืองหรือรัฐฐาลใหม่ที่ต้องการปรับค่าแรงขึ้น 450 บาทต่อวัน มองว่าอาจจะกระทบต่อการเคลื่อนย้ายการลงทุน และหากมีการเร่งเรื่องของรายได้มากขึ้น อาจจะเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากข้อมูลพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และเงินเฟ้อมีสูงถึง 90%
“แม้ว่ากสิกรไทยจะมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้อีก 0.25% มาอยู่ที่ 2.00% และจะคงดอกเบี้ยไว้ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะสูงกว่าคาดการณ์ เนื่องจาก กนง.ยังคงมีการติดตามการส่งผ่านต้นทุนเงินเฟ้อไปยังผู้บริโภค และปัจจัยการปรับค่าแรงที่อาจจะกดดันให้เงินเฟ้อเร่งขึ้นได้ แต่ยังประเมินถึงผลกระทบอย่างชัดเจนไม่ได้ เพราะยังไม่แน่ชัดว่าจะทำได้ตามที่ประกาศไว้”
อ่านข่าวต้นฉบับ: กสิกรไทยจับตาค่าแรงเพิ่ม เร่งเงินเฟ้อ หนุน กนง.ขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่า 2%